สถานการณ์ขยะในประเทศไทย
สถานการณ์ขยะ
กรมควบคุมมลพิษ เผยข้อมูลตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2561 ขยะในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มจัดการได้ดีขึ้น ตั้งแต่ปี 2561 มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ราว ๆ 9.58 ล้านตัน หรือ 34% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ 13% โดยขยะส่วนใหญ่จะนำไปรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะอีกกว่า 10.88 ล้านตัน จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเหลือขยะอีก 7.36 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งสัดส่วนการนำขยะกลับไปใช้ก็ยังถือว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้ยังพบปัญหาขยะในประเทศไทยที่แก้ไขไม่หมด จนกว่าจะหาทางจัดการขยะได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ใน พ.ศ. 2561 ประมาณ 27.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.05 จาก พ.ศ. 2560 ที่มีปริมาณ 27.37 ล้านตัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชมเมืองและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมเมืองในหลายพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคน ประมาณ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2560 ที่มีปริมาณ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ทั้งนี้ เป็นขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 17 และในพื้นที่ 76 จังหวัด ประมาณ 23.10 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 83 รองลงมาเกิดในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและพัทยา มีปริมาณ 2,591 ตันต่อวัน จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณ 2,480 ตันต่อวัน และจังหวัดสมุทรปราการ มีปริมาณ 2,449 ตันต่อวัน โดยทั้ง 4 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีปริมาณขยะมากกว่า 2,000 ตันต่อวัน
ใน พ.ศ. 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 10.85 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 38.85 ของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมด ลดลงร้อยละ 7.19 จาก พ.ศ. 2560 ที่มีปริมาณ 11.69 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องประมาณ 7.32 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26.21 ของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.09 จาก พ.ศ. 2560 ที่มีปริมาณ 7.17 ล้านตัน ส่วนขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์มีประมาณ 9.76 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 34.94 ของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.69 จาก พ.ศ. 2560 ที่มีปริมาณ 8.51 ล้านตัน เนื่องจากมีการคัดแยกบริเวณต้นทาง เมื่อพิจารณาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2552-2561) พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในช่วงหลัง พ.ศ. 2557 พบว่า การจัดการขยะมูลฝอยมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่มีการประกาศให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีปริมาณขยะที่มีการนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีการส่งเสริมให้เกิดกลไกการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น
- จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น : รวมถึงมีนักท่องเที่ยว หรือการอพยพย้ายถิ่น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้จำนวนขยะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการอุปโภคและบริโภคที่สูงขึ้น เช่น เสื้อผ้า อาหาร ทำให้มีขยะและสิ่งของเหลือใช้เพิ่มขึ้น
- วิถีการบริโภค : ปัจจุบันการบริโภคของสังคมเมืองเปลี่ยนไป ชีวิตประจำวันต้องพึ่งพาร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ทำให้ขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น
- การนำกลับมาใช้ประโยชน์ยังมีน้อย : ปัจจุบันแม้มีหลาย ๆ องค์กรรณรงค์เรื่องการนำขยะกลับมารีไซเคิล แต่ก็กำจัดขยะได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ในปี 2561 มีการนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน จากขยะทั้งหมด 27.82 ล้านตัน
ปัญหาและผลกระทบจากขยะ
จากจำนวนขยะที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น การกำจัดขยะผิดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือหลักวิชาการ และการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์น้อย จึงทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา ปัญหากลิ่น น้ำเสีย และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง แมลงวัน หรือพาหะเชื้อโรคอื่น ๆ ก่อให้เกิดน้ำชะขยะปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ สร้างความรำคาญ และทำลายทัศนียภาพอีกด้วย
ข้อมูลจาก :
การจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ
การจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ
หลักการ 7R คือ หลักการจัดการขยะเพื่อลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการกับคนที่เป็นคนสร้างขยะและการนำขยะมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และให้ขยะส่วนที่เหลือมีปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งประกอบด้วย
- Refuse (ปฏิเสธการใช้) เช่น ปฏิเสธการรับหลอดพลาสติกเมื่อซื้อเครื่องดื่ม หรือไม่รับถุงพลาสติกโดยการใช้ถุงผ้าที่นำไปเอง
- Refill (การใช้สินค้าที่เติมได้) เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดถุงเติมแทนการซื้อขวดใหม่ อาทิ สบู่เหลว หรือน้ำยาซักผ้า
- Return (การหมุนเวียนมาใช้ใหม่) การเลือกใช้สินค้าที่สามารถส่งบรรจุภัณฑ์กลับคืนได้ เช่น ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งคืนผู้ผลิตเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลได้
- Repair (การซ่อมแซม) การซ่อมแซมของใช้ที่ชำรุดให้กลับมาใช้ได้แทนที่จะปล่อยทิ้งจนกลายเป็นขยะ เช่น เปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องใช้ไฟฟ้าแทนการซื้อเครื่องใหม่หรือรุ่นใหม่ตามเทรนด์
- Reuse (การใช้ซ้ำ) เช่น นำถุงพลาสติกมาเป็นถุงขยะภายในบ้าน นำกล่องพลาสติกใส่อาหารมาใช้ซ้ำ หรือใช้ขวดน้ำใส่น้ำดื่มได้อีกหลายครั้ง
- Reduce (การลดการใช้) เช่น ใช้กระดาษ 2 หน้า หรือลดการใช้กระดาษทิชชูแล้วหันมาใช้ผ้าเช็ดหน้าแทน
- Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) เช่น การคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ อย่างขวดพลาสติก กระป๋อง หรือแก้ว เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก
วิธีการจัดการขยะแบบไหนถูกต้อง
หลักการสำหรับการจัดการขยะ (Waste Management) ที่ใช้กันทั่วโลกคือ หลักการลำดับความสำคัญของการจัดการขยะ (Waste Management Hierarchy) ซึ่งกำหนดลำดับการจัดการ 5 ขั้นตอนเพื่อให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
- 1. Reduce คือ การลดปริมาณขยะหรือลดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดขยะ เช่น งดรับถุงพลาสติกจากร้าน รวมถึงการลดผลกระทบจากของเหลือใช้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะ เช่น การไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท PVC หากนำไปกำจัดผิดวิธีหรือการเผาที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งอย่างสารไดออกซิน
- 2. Reuse คือ การนำบรรจุภัณฑ์เดิมกลับมาใช้ซ้ำ และหลีกเลี่ยงการผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท Single Use หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดขยะมากมาย แล้วใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้งแทน เช่น การใช้ขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ถือเป็นการยืดอายุการใช้งาน ช่วยให้ปริมาณขยะลดลง
- 3. Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่โดยการแปรรูป หรือการนำวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ที่หมดสภาพการใช้งานหรือหลังจากใช้ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง ถูกรวบรวมส่งกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตแปรรูปกลับเป็นสินค้าใหม่ นอกจากช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น การรีไซเคิลพลาสติกหรือกระดาษ รวมถึงการนำเศษอาหารมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ก็จัดว่าเป็นการรีไซเคิลด้วยเหมือนกัน
- 4. Energy Recovery คือ การใช้ประโยชน์จากขยะในด้านพลังงาน ก่อนจะถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ ซึ่งเรียกว่า Energy Recovery หรือแปลตรง ๆ ว่า เอาพลังงานกลับคืนมา เพราะในการผลิตของใช้ บรรจุภัณฑ์ หรือเศษอาหาร ล้วนต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น การเอาพลังงานที่ยังเหลืออยู่มาใช้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับประเภทของขยะ เช่น ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร อาจใช้วิธีหมักให้ได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ผลิตพลังงาน หรือจะใช้วิธีดูดเอาก๊าซจากหลุมฝังกลบมาใช้ผลิตพลังงานตามแนวพระราชดำริ ส่วนขยะที่เผาไหม้ได้ เช่น เศษพลาสติกที่ไม่เหมาะจะเอาไปรีไซเคิล สามารถนำไปผลิตพลังงานความร้อนหรือกระแสไฟฟ้าได้ด้วยการใช้เตาเผา
- 5. Final Disposal คือ การฝังกลบ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของลำดับความสำคัญของการจัดการขยะ จะต้องกำจัดขยะที่เหลือจาก 4 ขั้นตอนแรก ซึ่งรวมถึงเถ้าจากการเผาในขั้นตอนการผลิตพลังงาน การกำจัดในขั้นตอนนี้หนีไม่พ้นการฝังกลบ แต่เมื่อได้ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดก็จะเหลือน้อยลง และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
จะเห็นได้ว่า 3 ขั้นตอนแรกนั้นคือ 3R หลักการลดขยะง่าย ๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เหลือขยะน้อยที่สุด แต่เมื่อยังมีขยะเหลือและต้องนำไปกำจัด จึงต้องคิดเรื่องการเอาพลังงานจากการกำจัดขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จากจุดนี้เองที่ทำให้เกิด Energy Recovery หรือ Waste to Energy การกำจัดขยะในลำดับขั้นที่ 4 ซึ่งช่วยลดขยะและมีพลังงานเป็นผลพลอยได้ และเหลือขยะนำไปฝังกลบน้อยที่สุด
ข้อมูลจาก :
ในการรณรงค์ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ หลายหน่วยงานได้กำหนดนิยามหรือคำอธิบายเพิ่มเติมจากหลักการ 3R เช่น บางหน่วยงานนำเสนอ 5R-1A หรือ 6R หรือ 7R เช่นตัวอย่าง การรณรงค์ 7R ประกอบด้วย
- Refuse (ปฏิเสธการใช้)เช่น ปฏิเสธการรับหลอดพลาสติกเมื่อซื้อเครื่องดื่ม หรือไม่รับถุงพลาสติกโดยการใช้ถุงผ้าที่นำไปเอง
- Refill (การใช้สินค้าที่เติมได้)เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดถุงเติมแทนการซื้อขวดใหม่ อาทิ สบู่เหลว หรือน้ำยาซักผ้า
- Return (การหมุนเวียนมาใช้ใหม่)การเลือกใช้สินค้าที่สามารถส่งบรรจุภัณฑ์กลับคืนได้ เช่น ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งคืนผู้ผลิตเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลได้
- Repair (การซ่อมแซม)การซ่อมแซมของใช้ที่ชำรุดให้กลับมาใช้ได้แทนที่จะปล่อยทิ้งจนกลายเป็นขยะ เช่น เปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องใช้ไฟฟ้าแทนการซื้อเครื่องใหม่หรือรุ่นใหม่ตามเทรนด์
- Reuse (การใช้ซ้ำ)เช่น นำถุงพลาสติกมาเป็นถุงขยะภายในบ้าน นำกล่องพลาสติกใส่อาหารมาใช้ซ้ำ หรือใช้ขวดน้ำใส่น้ำดื่มได้อีกหลายครั้ง
- Reduce (การลดการใช้)เช่น ใช้กระดาษ 2 หน้า หรือลดการใช้กระดาษทิชชูแล้วหันมาใช้ผ้าเช็ดหน้าแทน
- Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่)เช่น การคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ อย่างขวดพลาสติก กระป๋อง หรือแก้ว เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก
ข้อมูลจาก :
ประโยชน์จากการคัดแยกขยะ
การแยกขยะ ไม่ใช่แค่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องทำการคัดแยกก่อนส่งไปกำจัดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงกำจัดขยะหรือบ่อฝังกลบ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รวมทั้งการนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะขยะบางประเภทยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อน Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นของใช้ในบ้าน หรือขยะอินทรีย์ สามารถย่อยสลายและทำเป็นก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยหมักได้ หรือหากนำไปฝังกลบแล้วจะดูดเอาก๊าซจากหลุมฝังกลบก็ได้ ส่วนขยะมูลฝอยที่ไม่เหมาะจะนำไปรีไซเคิลหรือทำปุ๋ย จะถูกส่งเข้าโรงงานไฟฟ้าขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้
ข้อมูลจาก :
รูปแบบการจัดเก็บและการกําจัดขยะ
"ทำไมต้องแยกขยะ ในเมื่อสุดท้ายก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี" "เจ้าหน้าที่นำขยะไปทำอะไร ที่ไหนต่อ" นี่คือคำถามคาใจที่หลายคนยังสงสัย ในความเป็นจริงแล้ว รถเก็บขยะจะมีถังใบใหญ่ ๆ บนรถแต่ละคัน และมีช่องแยกไว้สำหรับใส่ขยะแต่ละประเภท หลังจากที่รถเก็บขยะรวบรวมขยะจากบ้านเรือนเรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกนำไปกำจัด ในบางท้องถิ่นที่สถานทีกำจัดอยู่ห่างไกล เช่นกรณีของกรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลนครเชียงใหม่ ขยะที่จัดเก็บได้จะถูกถ่ายไปยังรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่สถานีขนถ่าย เพื่อนำไปกำจัดต่อไป
ข้อมูลจาก :
การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy)
Waste to Energy คือ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การนำเอาก๊าซที่เกิดในหลุมฝังกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเรียกก๊าซที่เกิดขึ้นในหลุมฝังกลบขยะว่า “ก๊าซหลุมฝังกลบ หรือ Landfill Gas” เกิดจากการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ที่ปะปนอยู่ในขยะ การย่อยสลายแบบนี้เป็นการย่อยสลายที่ไม่ใช้อากาศหรือไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) เอาขยะอินทรีย์ออกมาได้ และสร้างระบบการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ (Reactor) เราก็สามารถผลิตก๊าซผสมนี้ได้และนำไปผลิตพลังงานได้
ขยะประเภทอื่นที่ไม่ย่อยสลาย แต่เผาไหม้ได้ สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานได้เหมือนกัน ด้วยกระบวนการทางความร้อนหรือการเผา ซึ่งเราเรียกง่าย ๆ ว่า เตาเผาขยะ เมื่อขยะผ่านการเผาแล้ว ก็เกิดพลังงานความร้อนที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ซึ่งประเทศในเขตเมืองหนาวจะนำเอาความร้อนจากการเผาขยะนี้ส่งไปใช้ตามบ้านเรือนเพื่อให้ความอบอุ่น แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้ใช้ความร้อนตามบ้านเรือน จึงเอาความร้อนที่ได้ไปแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง จึงเป็นที่มาของคำว่า โรงไฟฟ้าขยะ หรือ Waste to Energy
ข้อมูลจาก :
โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ คืออะไร
โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เกิดขึ้นจากแนวทางการจัดการขยะที่เรียกว่า Waste Management Hierarchy เมื่อเราได้ทำตามขั้นตอนเพื่อลดปริมาณขยะด้วย 3R เต็มที่แล้ว การกำจัดขยะต้องให้ผลพลอยได้จากการกำจัด นั่นคือการได้พลังงานมาโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น
- 1. เทคโนโลยีเตาเผาขยะ (Incineration) : ระบบที่ใช้อุณหภูมิสูงในการเผาไหม้เพื่อลดปริมาตรและมวลขยะ ให้ได้พลังงานความร้อนเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า
- 2. เทคโนโลยีการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะ (Municipal Solid Waste Gasification) : ระบบการกำจัดที่ใช้เตาเผาเหมือนกัน แต่เผาในสภาพที่มีออกซิเจนน้อยและอุณหภูมิสูง เพื่อให้เกิดปฏิกิริยากลั่นสลายทางเคมีของขยะเพื่อให้ได้ก๊าซเชื้อเพลิง
- 3. เทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก (Pyrolysis Oil) : ระบบเปลี่ยนขยะที่เป็นสารอินทรีย์ เช่น พลาสติกหรือยาง โดยใช้อุณหภูมิสูงในสภาพไร้อากาศหรือไม่มีออกซิเจน ที่เรียกว่า ไพโรไลซิส
- 4. เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) : การเปลี่ยนคุณสมบัติ องค์ประกอบ และรูปทรงของขยะ เช่น ลดความชื้นและขนาดแล้วนำไปอัดแท่ง เพื่อให้เหมาะกับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง พร้อมทั้งจัดเก็บและขนส่งได้สะดวก
- 5. เทคโนโลยีการฝังกลบ และระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ (Landfill Gas to Energy) : ระบบกักเก็บก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากหลุมฝังกลบมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า แทนการปล่อยไปตามสภาพธรรมชาติ เพราะหากไม่มีการเก็บก๊าซทั้ง 2 ชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ จะไปสะสมในชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน
ข้อมูลจาก :
เตาเผาขยะ ผลิตพลังงานจากขยะอย่างไร
แม้การกำจัดขยะจะมีหลากหลายวิธี แต่วิธีกำจัดสำหรับเมืองที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ การกำจัดขยะด้วยเตาเผาจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง อีกทั้งหากมีการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ยังให้ผลพลอยได้เป็นพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งในการกำจัดต้องไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเลือกเตาเผาขยะที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ หรือโรงไฟฟ้าขยะ ต้องพิจารณาปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ เช่น ขนาดของโครงการ (ปริมาณขยะที่ต้องกำจัด) ลักษณะหรือคุณสมบัติของขยะที่จะกำจัด เพื่อให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ไม่เป็นภาระกับประชาชน
สำหรับเทคโนโลยีเตาเผาขยะที่ใช้ในปัจจุบันมี 3 ประเภท
- 1. เตาเผาแบบตะกรับเคลื่อนที่ (Moving Grate) เป็นเตาเผาที่ไม่จำเป็นต้องบด ตัด ลดขนาดขยะก่อนนำเข้าเตาเผา เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีการคัดแยกขยะ เพราะสามารถเผาทำลายขยะมูลฝอยที่มีองค์ประกอบและค่าความร้อนที่หลากหลายได้ อีกทั้งยังสามารถเผาขยะได้สูงถึง 1,200 ตันต่อวัน แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุน เพราะใช้เงินลงทุนและบำรุงรักษาค่อนข้างสูง
- 2. เตาเผาแบบหมุน (Rotary Klin) เป็นการเผาไหม้ขยะในห้องเผาไหม้รูปทรงกระบอก ซึ่งสามารถหมุนได้รอบแกน ทำให้มูลฝอยเคลื่อนที่ไปตามผนังของเตาเผาด้วย นอกจากนี้เตาเผาแบบหมุนยังเป็นเตาเผาที่สามารถนำขยะไปเผาได้โดยไม่ต้องคัดแยกหรือบดตัดขยะก่อน แต่มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับเตาเผาขยะแบบตะกรับ เพราะต้องใช้เงินลงทุนและค่าบำรุงรักษาค่อนข้างสูง
- 3. เตาเผาแบบฟลูอิดไดซ์เบด (Fluidized Bed) หลักการทำงานคือ อาศัยตัวกลางในการกระจายตัวของอุณหภูมิภายในเตาบริเวณด้านล่างของเตาปฏิกรณ์ ถูกทำให้ร้อนและเป่าให้ลอยขึ้นเมื่อป้อมชีวมวลเข้าไปเคลื่อนตัวชนกับตัวกลางที่ร้อน และเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนจนเกิดการเผาไหม้กลายเป็นก๊าซในที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีประเภทนี้มีข้อดีคือ ใช้เงินลงทุนต่ำ เผาขยะได้หลายประเภท แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้องมีการจัดการองค์ประกอบและขนาดของขยะก่อนนำไปเผา
ข้อมูลจาก :
ประโยชน์โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ
การสร้างโรงไฟฟ้าขยะมีประโยชน์หลายด้าน นอกจากมีศักยภาพในการกำจัดขยะอย่างเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญกับชุมชนรอบโครงการแล้ว ยังทำให้มีผลพลอยได้ที่เป็นพลังงานไฟฟ้าจากกระบวนการกำจัด ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดการนำเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอีกด้วย
ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ
สาเหตุที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะถูกคัดค้านจากประชาชน เพราะส่วนหนึ่งรู้สึกเป็นกังวลกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่บางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดความเชื่อมั่นในระบบการจัดการ ซึ่งจริง ๆ แล้วโรงไฟฟ้าขยะนั้นมีระบบบำบัดอากาศและน้ำเสียก่อนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรืออากาศ ทั้งนี้ หากมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการเปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ก็จะช่วยลดความขัดแย้งได้
แนวทางที่จะทำให้ไทยสามารถแก้ไขปัญหาขยะได้
ภาคประชาชน
- ตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะ และควรลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง
- ควรคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างถูกต้อง
- สร้างสังคมการลดและแยกขยะภายในบ้านเรือนและชุมชน
- ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม
ภาครัฐ
- รณรงค์ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้ประชาชนในระดับครัวเรือน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
- สนับสนุนการจัดการขยะแบบศูนย์รวม ในการร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขยะที่เหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณขยะ
- สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีกำจัดและจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
- ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอย
- ส่งเสริมการนำขยะที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์
- กำหนดกฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ
- บัญญัติกฎหมายเรื่องมลพิษและการแยกขยะ
- กำหนดยุทธศาสตร์ผังเมืองให้เหมาะสม
- การให้สิทธิประโยชน์ชุมชนบริเวณโรงไฟฟ้า
ภาคเอกชน
- ส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนในการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์
- ส่งเสริมโครงการ Waste-to-Energy
- ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจาก :
เครดิตข้อมูล :
เชื้อเพลิงขยะ RDF ทางเลือกในการจัดการขยะ
เชื้อเพลิงขยะ RDF คืออะไร
เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF ย่อมาจาก Refuse Derived Fuel คือ การนำขยะมาปรับปรุงองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพ ให้มีคุณสมบัติ เช่น ค่าความร้อน ขนาด ความชื้น ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล หรือนำไปเผาร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดปริมาณการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
ข้อมูลจาก :
ทำไมต้องมีเชื้อเพลิงขยะ RDF
อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยประสบกับปัญหาขยะสะสมมาหลายปี ดังจะเห็นได้จากสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานว่า ปริมาณขยะตกค้างตั้งแต่ปี 2551-2561 มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการออกนโยบายเพื่อช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้มาโดยตลอด หนึ่งในนั้นก็คือ Roadmap การจัดการขยะในปี 2557 พร้อมด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น นโยบาย 3R - ประชารัฐ เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการส่งเสริมให้มีการจัดการขยะด้วยวิธี Waste to Energy หรือการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน หนึ่งในนั้นก็คือ การนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า เชื้อเพลิงขยะ RDF
หากย้อนกลับในอดีตจะพบว่า เชื้อเพลิงขยะ RDF ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ก็ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สำหรับในประเทศไทยการผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF เป็นจุดต่อยอดจากโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครระยอง ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิชัยพัฒนา จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการนำขยะอินทรีย์จากชุมชน ไปผ่านกระบวนการของเทคโนโลยีย่อยสลายที่ไม่ใช้อากาศ หรือ Anaerobic Digestion เพื่อนำก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์พร้อมกับการกำจัดขยะ พร้อมกับนำขยะรีไซเคิลอย่าง พลาสติก เศษกระดาษ และใบไม้ กลับไปใช้ใหม่ จนกระทั่งในปี 2551 ได้มีการขยายผลเพิ่มเติมในโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครนครราชสีมา นั่นก็คือ การนำขยะที่เผาได้ อาทิ เศษพลาสติก เศษกระดาษ เศษกิ่งไม้ อัดเป็นเชื้อเพลิงขยะแท่ง ที่เรียกว่า Extruded Refuse Derived Fuel (Extruded RDF) เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบขยะ ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น
นอกจากนี้ หลังการประกาศ Roadmap การจัดการขยะในปี 2557 ของรัฐบาลก็ส่งผลให้หลายหน่วยงานทำการวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กับชุมชนมากขึ้น เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ได้ทำการค้นคว้า เพื่อพัฒนาและนำเสนอให้เป็นทางเลือกใหม่ ในการลดขยะใหม่ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้แก่ การผลิตขยะเชื้อเพลิง RDF ขายให้กับโรงไฟฟ้าขยะหรือโรงงานปูนซีเมนต์
ข้อมูลจาก :
จากสิ่งของไร้ค่าที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF
ขยะที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่เผาไหม้ได้ เช่น เศษผ้า เศษกระดาษ และพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ผ่านกระบวนการคัดแยก ลดขนาด ลดความชื้น เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า
ในส่วนของพลาสติกประเภท PVC (Polyvinyl Chloride) เช่น ผ้าร่ม ท่อน้ำ ฉลากติดขวดน้ำ และหนังเทียม จะไม่นิยมนำมาเผาเป็นเชื้อเพลิง เพราะการเผาไหม้พลาสติก PVC หากไม่มีการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม จะทำให้เกิด “ไดออกซิน” สารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสร้างมลพิษทางอากาศ อีกทั้งพลาสติก PCV ยังมีกรดเกลือ ที่ทำให้เครื่องจักรสึกหรอเร็วขึ้นด้วย
ส่วนพลาสติกที่รีไซเคิลได้ เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม จะถูกคัดแยกออกมาในขั้นตอนแรก เพื่อนำกลับไปใช้ โดยรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ข้อมูลจาก :
เชื้อเพลิงขยะ RDF มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ประโยชน์ของการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงขยะ RDF มีหลายอย่างด้วยกัน นั่นก็คือ
- ช่วยลดปริมาณขยะตกค้าง โดยนำขยะกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์
- สะดวกต่อการนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งในสถานที่ที่ผลิตเอง และขนส่งไปที่อื่น
- เพิ่มทางเลือกพลังงานทดแทน โดยสามารถนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
- เป็นการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ไดออกซิน สารก่ออันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่นเหม็นจากการเทขยะ
- ช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน จากการซื้อ-ขายขยะรีไซเคิล
- มีขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น ช่วยให้เกิดความคุ้มค่าตามแนวคิด Circular Economy
ข้อมูลจาก :
ด้วยสถานการณ์ปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น การนำขยะไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยทำให้ขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับไปใช้ได้มากขึ้น ลดขยะตกค้างในระบบ พร้อมกับส่งเสริมให้ชุมชนเกิดอาชีพและสร้างรายได้จากการซื้อ-ขายขยะอีกด้วย