ตามรอยเส้นทางขยะ จากของไร้ค่า สู่ขุมทรัพย์พลังงานไฟฟ้า
ตามเส้นทางขยะ จากชิ้นเล็ก ๆ หากกำจัดผิดวิธีจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ แล้วขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันถูกนำไปจัดการอย่างไร ? วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก

ขยะในไทยเกิดขึ้นทุกวัน และเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะออกมารณรงค์และช่วยกันลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ยังเหลือปริมาณขยะหลายล้านตันที่รอกำจัด ทำให้มีแนวคิดเรื่องเอาพลังงานจากการกำจัดขยะมาใช้ประโยชน์ จุดนี้เองจึงเกิด "โรงไฟฟ้าขยะ" ทางออกที่ดีในการลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลพลอยได้เป็นพลังงาน ช่วยลดการนำเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งในการจัดการขยะ การคัดแยก ก่อนเป็นพลังงาน มีเส้นทางเป็นอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกัน

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ปริมาณขยะในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด โดยปี 2561 ไทยมีปริมาณขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน เมื่อลองนำมาคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับว่า คนไทยทิ้งขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เลยทีเดียว ที่สำคัญขยะเหล่านี้มีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้องสูงถึง 7.36 ล้านตัน จนก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ส่งกลิ่นเหม็น มีขยะปนเปื้อนในดิน น้ำ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และเกิดมลพิษทางทัศนียภาพ
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขยะมีมากขึ้นก็มาจากหลายปัจจัย เช่น มีประชากรเพิ่มขึ้น จากอัตราการเกิดใหม่และย้ายถิ่น การท่องเที่ยว การขยายตัวทางเศรษฐกิจ วิถีการบริโภคที่ต้องพึ่งร้านสะดวกซื้อและบรรจุภัณฑ์ วิธีการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง และการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์น้อย โดย 3 จังหวัดที่มีปริมาณขยะมากที่สุดในไทยจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ เป็นเขตอุตสาหกรรม หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปริมาณ "ขยะ" แม้จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การกำจัดก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่นำหลักการจัดการขยะ 7R มาปรับใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย การใช้น้อย (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การปฏิเสธการใช้ (Refuse) การใช้สินค้าที่เติมได้ (Refill) การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Return) และการซ่อมแซม (Repair) โดยทั้ง 7R ถือเป็นการจัดการขยะในบ้านด้วยวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยควบคุมปริมาณการเกิดขยะที่ต้นกำเนิดแล้ว ยังสามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนจะนำไปกำจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผาหรือการฝังกลบ แถมยังสามารถนำขยะบางส่วนไปสร้างรายได้อีกด้วย

ถึงแม้จะช่วยกันลดขยะตั้งแต่ต้นทางแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังต้องมีขยะตกค้างอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะอินทรีย์หรือขยะย่อยสลายได้ ที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2560 รายงานว่า มีปริมาณสูงถึง 64% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แถมองค์ประกอบของขยะชนิดนี้ยังมีความชื้นสูง ไม่เหมาะกับการเผา อีกทั้งหากกำจัดผิดวิธี หรือกำจัดไม่หมด ก็อาจจะสร้างปัญหาตามมา เช่น ส่งกลิ่นเหม็นเน่า แหล่งเพาะพันธุ์พาหะอย่าง แมลงวัน เชื้อโรคต่าง ๆ และอาจทำให้มีน้ำชะขยะปนเปื้อนดิน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะอินทรีย์พวกเราสามารถแก้ไขได้ โดยนำไปทำปุ๋ยหมัก บำรุงดิน บำรุงต้นไม้ ซึ่งขยะที่สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้ เช่น เศษอาหารที่กินเหลือ ผลไม้หรือผักเน่า เปลือกไข่ รวมไปถึงของเสียจากการเกษตรอย่าง ต้นกล้วย พืชสด ฟางข้าว ขี้วัว เศษหญ้า ใบไม้ ขุยมะพร้าว เป็นต้น

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะปลายทางได้ก็คือ การเอาพลังงานจากการกำจัดขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่เรียกว่า "การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Energy Recovery หรือ Waste to Energy)" ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปหมักจนได้ก๊าซชีวภาพแล้วนำมาใช้ผลิตพลังงาน และการนำขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ แต่เผาไหม้ได้และไม่เหมาะจะรีไซเคิล มาแปรรูปเป็นพลังงานความร้อนก่อนเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ด้วยการใช้เตาเผาขยะ

ด้วยสถานการณ์ปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การนำขยะไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นทางออกที่ดีอีกตัวเลือกที่มีศักยภาพในการกำจัดขยะอย่างเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลพลอยได้ที่เป็นพลังงานไฟฟ้าจากกระบวนการกำจัด ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดการนำเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม พอจะมีโครงการก่อนสร้างโรงไฟฟ้าขยะในไทย ก็มักจะเห็นข่าวชุมชนออกมาคัดค้านให้เห็นตามสื่ออยู่เนือง ๆ ทำให้หลายโครงการต้องชะลอหรือเลื่อนการสร้างออกไป ซึ่งถ้าคนในชุมชนเข้าใจและรับรู้ข้อมูลว่า จริง ๆ แล้วการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมีประโยชน์ ไม่เกิดผลกระทบ และมั่นใจในระบบการจัดการสร้างโรงไฟฟ้า เชื่อว่าปัญหาเรื่องการต่อต้านจากชุมชนจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

พอพูดถึง "โรงไฟฟ้าขยะ" ต้องขอยกตัวอย่างหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่โดดเด่นในเรื่องนี้ นั่นก็คือ "สิงคโปร์" เพราะแม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่ระบบการจัดการขยะดีเยี่ยม เพราะมีแผนรองรับครบถ้วนตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง จนทำให้เมืองสะอาดติดอันดับโลก อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้มีการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งกำหนดวันและเวลาในการทิ้ง เพื่อช่วยแบ่งเบาปริมาณขยะรายวันที่ต้องนำไปกำจัด
สำหรับโรงไฟฟ้าขยะที่สิงคโปร์ นอกจากช่วยกำจัดขยะแล้ว ยังได้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ และมีระบบการจัดการที่ดี ไม่เกิดมลพิษ ทำให้ประชาชนมั่นใจในระบบการดำเนินงาน ส่วนเถ้าหนักที่เหลือจากการเผาไหม้ ทางภาครัฐก็นำไปถมที่สร้างเป็นเกาะใหม่ชื่อว่า เกาะเซมาเกา (Semakau Landfill) ที่ตอนนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่สวยงามอีกหนึ่งแห่งของประเทศด้วย
ส่วนในประเทศไทย ก็มีตัวอย่างดี ๆ ให้เห็นเหมือนกัน คือ เตาเผาขยะในจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้คนในชุมชน จนช่วยพลิกวิกฤตจากเมืองท่องเที่ยวที่เคยมีปัญหาขยะรุนแรง ให้กลายเป็นเมืองที่กำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นกว่าที่เคย ทั้งยังสามารถเป็นแนวทางให้จังหวัดอื่น ๆ มาเรียนรู้อีกด้วย
มาถึงตอนนี้คงจะเห็นกันแล้วว่า "ขยะ" จากที่เคยเป็นปัญหาและหลายคนมองว่าไร้ค่า แท้จริงแล้วก็มีประโยชน์ ถ้าพวกเราช่วยกันคัดแยก ทิ้งลงถังขยะให้ถูกต้อง เพื่อนำกลับมารีไซเคิล หรือนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าต่อไป

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562