ขยะพลาสติก เกิดง่าย กำจัดยาก แต่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
เคยสงสัยไหม ? ขยะพลาสติก ที่เราเห็นเกลื่อนกลาด ส่งผลกระทบต่อเรา สิ่งแวดล้อม หรือโลกแค่ไหน แล้วใช้เวลาในการย่อยสลายเองตามธรรมชาติกี่ปี และเราจะทำยังไงถึงทำให้ขยะพลาสติกเหล่านี้หมดไป ? วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

พลาสติก เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา แข็งแรง คงทนต่อความร้อนได้ดี มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนรูปได้หลากหลาย ดังนั้น พลาสติกจึงถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในสินค้าหลายชนิด ทั้งเครื่องใช้ ขัน โต๊ะ เก้าอี้ กะละมัง ขวดน้ำ ถังน้ำ ของเล่น หรือบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติกใส่อาหาร จานพลาสติก ชามพลาสติก ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก หลอดดูดน้ำ ขวดน้ำดื่ม ขวดนม กล่องใส่อาหาร ถุงขนม เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 พบว่า มีขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด เฉลี่ยแต่ละคนสร้างขยะ 1 กิโลกรัม 1 ขีด ต่อวัน เป็นถุงพลาสติก 8-10 ใบต่อวัน สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 500,000 ตัน เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ที่ยังตกค้าง ซึ่งแหล่งกำเนิดขยะเหล่านี้ก็มาจากทั้งโรงงาน ร้านค้า ชุมชน และบ้าน ที่ถือเป็นแหล่งขยะที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกที่มาจากของเหลือใช้ในห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว

ภาพจาก Fotos593 / Shutterstock.com
นอกจากเราจะเห็นภาพขยะพลาสติกเกลื่อนกลาดบนบกแล้ว ตามชายฝั่งหรือทะเลก็เห็นขยะพลาสติกอยู่จำนวนมาก โดยแหล่งที่มาของขยะทะเล พบว่า สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมบนบก 80% เช่น มาจากบ้านเรือนหรือชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด ส่วนอีก 20% มาจากกิจกรรมทางทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การทำประมงในทะเลจากเรือพาณิชย์หรือเรือประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล
โดยขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทย ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กล่องโฟม เชือก หลอดดูด ถุงใส่อาหาร และฝาขวดน้ำ ซึ่งขยะเหล่านี้บางชนิดใช้เวลาย่อยสลายนาน บางชนิดก็ย่อยสลายเองตามธรรมชาติไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติก ทั้งถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก หรือของใช้ที่ผลิตจากพลาสติกชนิดอื่น ๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ใช้ง่าย ราคาถูก แต่ก็อย่าลืมว่าขยะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนาน และมีสารเคมีที่เป็นอันตราย หากกำจัดผิดวิธีก็จะกลายเป็นปัญหา ส่งผลกระทบต่อตัวเรา สิ่งแวดล้อม และโลกได้

หากเราสามารถลดการใช้พลาสติกหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกับปัญหาขยะดังกล่าวไม่น้อย เริ่มต้นง่าย ๆ จากการคัดแยกให้ถูกวิธีก่อนนำไปทิ้ง เพราะจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพลาสติกที่รีไซเคิลได้มี 7 ประเภทด้วยกัน นั่นก็คือ
-
โพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE)
-
โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE)
-
โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC)
-
โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE)
-
โพลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP)
-
โพลีสไตรีน (Polystyrene : PS)
-
พลาสติกอื่น ๆ (Other)

หลังจากรู้จัก 7 พลาสติกรีไซเคิลแล้ว ต่อไปก็เป็นการนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยหลัก ๆ ก็คือ การคัดแยกและรวบรวมขายให้ร้านรับซื้อของเก่าหรือธนาคารขยะ เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานและแปรรูปใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะและได้เงินเข้ากระเป๋าในตัว หรือถ้าหากใครอยากได้บุญด้วย จะนำไปบริจาคให้โครงการต่าง ๆ เช่น โครงการทำผ้าไตรหรือผ้าบังสุกุลจีวรของวัดจากแดง หรือโครงการวนของ บมจ.ทีพีบีไอ ก็ได้
นอกจากนี้ เรายังนำพลาสติกกลับมาใช้งานใหม่ได้ง่าย ๆ ด้วยการดัดแปลงเป็นของใช้-ของแต่งบ้านหลากหลายชนิด หรือที่เรียกว่า “อัพไซเคิล” เช่น การนำขวดพลาสติกทรงกลมมาทำเป็นกระถางต้นไม้ การนำขวดพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมมาทำเป็นกระเป๋า และการนำขวดพลาสติกหลายทรงมาทำเป็นโมบายแต่งบ้าน ซึ่งไอเดียเหล่านี้ทำไม่ยาก ใช้อุปกรณ์ไม่มาก แต่สวยงาม มีสไตล์ น่าใช้งานอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ภาครัฐ ชุมชน และประชาชนเท่านั้น ที่ช่วยกันลดขยะพลาสติกอย่างจริงจัง เพราะร้านค้า ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ต่าง ๆ ก็เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบการรีฟิลและการนำภาชนะมาใช้เอง เพื่อช่วยลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้แทน และใช้วัสดุรีไซเคิลตกแต่งร้านด้วย เช่น ZeroMoment Refillery ที่ให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่สินค้าในปริมาณที่ต้องการด้วยตัวเอง ใช้แค่ไหนก็เติมแค่นั้น หรือ Bamboo De Cafe ที่ใช้หลอดและที่จับหูหิ้วที่ผลิตมาจากพืช แถมตัวอาคารยังสร้างจากไม้ไผ่ทั้งหลัง และเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับงานไม้ไผ่ไปในตัวด้วย

ในส่วนของผู้ผลิตเอง ก็หันมาใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกตามแนวคิด Circular Economy กันมากขึ้น หันมาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากมาย ตัวอย่างเช่น Levi’s ที่นำขยะขวดพลาสติกรีไซเคิลได้มาแปรรูปเป็นกางเกงยีนส์ในคอลเล็กชั่น Levi’s® Waste‹Less™, IKEA ที่นำเศษไม้และขวดพลาสติกรีไซเคิลเป็นบานตู้ครัวคุงส์บัคก้า และ Adidas ที่นำพลาสติก TPU มาผลิตรองเท้า เพื่อให้นำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 100% ในคอลเล็กชั่น Futurecraft.loop ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว ยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการกำจัดอีกด้วย ต้องบอกเลยว่าเจ๋งมากจริง ๆ
พลาสติก แม้จะมีประโยชน์ แต่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมายได้เช่นกัน แต่พวกเราสามารถร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องขยะพลาสติกได้ โดยลดการใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เชื่อว่าสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้แน่นอน

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562