โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF แพรกษาใหม่ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
ตามไปชมระบบการกำจัดขยะ ณ ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร ที่ ต.แพรกษาใหม่ ว่าพวกเขามีแนวคิดในการดำเนินงานอย่างไร ที่ช่วยลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคนในชุมชนได้ประโยชน์

อาคารสำนักงานและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF แพรกษาใหม่
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะหลายแห่งมักจะถูกคัดค้านหรือต่อต้านจากชุมชน เพราะมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา แต่ที่ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ มีการจัดการส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงสามารถกำจัดขยะและอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้ ส่วนจะเป็นอย่างไรบ้างตามไปดูกันเลย

คุณอนุพงศ์ มุทราอิศ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
"ขยะในมือที่ทุกคนทิ้งมา ไม่ว่าจะมาจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหนก็ตาม อาจจะเป็นการจบปัญหาของคุณ แต่ในฐานะ Waste Fighter หรือนักต่อสู้กับขยะ มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องมาคิดต่อว่า ขยะที่เข้ามามีปริมาณแค่ไหน และจะกำจัดอย่างไร เพื่อให้เข้าใกล้กับคำว่า Zero Waste (ขยะเป็นศูนย์) มากที่สุด" คำบอกเล่าของคุณอนุพงศ์ มุทราอิศ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด กล่าวถึงแนวทางในการทำงานของศูนย์บริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ที่ ต.แพรกษาใหม่ แห่งนี้
คุณอนุพงศ์ มุทราอิศ กล่าวต่อว่า ขยะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะจริง ๆ แล้วมันมีวงจรในตัวของมันเอง อย่างหลายล้านปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้จะมีการบริโภค แต่หลังจากวิวัฒนาการที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนไป และทำให้วงจรขยะไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ เช่น น้ำมันดิบที่ถูกดูดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ในขณะที่ส่วนหนึ่งมีการนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติก เท่ากับว่าเราไปเปลี่ยนรูปจากของเหลวให้กลายเป็นของแข็ง สุดท้ายพลาสติกก็กลายเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วมีจุดกำเนิดมาจากธรรมชาติ

ตัวอย่างถังขยะที่ตั้งภายในอาคาร เพื่อให้พนักงานทิ้งตามประเภทขยะ
เลยกลายเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของเรา ที่จะเข้ามาต่อวงจรตรงนี้ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม ด้วยการนำหลัก Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ โดยการทำให้ขยะทุกชิ้นที่ส่งเข้ามากลายเป็นศูนย์ (Zero Waste) แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างเช่นในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ก็มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 20-30% ถึงแม้จะพยายามเพิ่มศักยภาพในการกำจัดขยะให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถสู้กับปริมาณขยะจากพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งหมดที่เข้ามาประมาณ 3,000 ตันต่อวัน นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องเจอ
"โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF" ช่วยลดขยะ
มีพลังงานไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้

คุณนิพนธ์ อรุณรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
กระบวนการแรกที่ทำก็คือ ขยะอะไรที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียมหรือพลาสติกรีไซเคิลได้ ก็ถูกคัดแยกเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลก่อน แต่เนื่องจากขยะที่ถูกขนส่งมากำจัดมีหลากหลายประเภท และไม่ได้ถูกคัดแยกมาจากต้นทาง อีกทั้งสัดส่วนของขยะรีไซเคิลก็มีเพียง 5-10% จากปริมาณทั้งหมด ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นขยะออร์แกนิกหรือขยะอินทรีย์ เป็นประเภทขยะที่มีความชื้นสูง รวมถึงขยะประเภทอื่น ๆ ที่ย่อยสลายยาก ดังนั้น เลยเกิดการผสมผสานระหว่าง Mechanical & Biological หรือวิธีเชิงกลและกระบวนการทางชีวภาพ

โรงคัดแยกขยะ เพื่อนำไปผลิตขยะเชื้อเพลิง RDF

โกดังเก็บขยะเชื้อเพลิง RDF
ดังนั้น ขยะใหม่ที่ถูกนำมาทิ้งจะไม่ได้ถูกกำจัดในทันที แต่จะต้องผ่านกระบวนการบำบัดทางกายภาพ เพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบขยะให้เหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่เรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) ก่อนจะส่งเข้าสู่ระบบเตาเผา (Combustion System) เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเถ้า ที่อุณหภูมิ 850-900 องศาเซลเซียส พร้อมกับนำความร้อนที่ได้ไปใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า

เตาเผาขยะระบบ Step Grate-Stoker Type

Boiler System เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในห้องควบคุม
จากกระบวนการดังกล่าวทำให้ที่นี่สามารถกำจัดขยะประมาณ 500 ตันต่อวัน และมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง สำหรับหมุนเวียนใช้ในระบบและส่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้านครหลวง
กำจัดขยะด้วยเตาเผา
กับแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แน่นอนว่าการกำจัดขยะด้วยเตาเผา จะมีกากหลงเหลือที่เรียกว่า “เถ้า” สิ่งที่ทำให้หลายคนกังวลว่าจะสร้างปัญหา ซึ่งจริง ๆ แล้วภายในเตาเผามีระบบบำบัดมลพิษ (Flue Gas Cleaning System) กำจัดฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็นก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็มีถังเก็บเถ้าเบา (Silo) เพื่อส่งต่อให้กับบริษัทที่รับซื้อนำไปส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติสารปนเปื้อน ก่อนนำไปใช้ผสมกับปูนซีเมนต์เพื่อใช้ในงานก่อสร้าง ส่วนเถ้าหนักก็จะกลายเป็นดินสำหรับใช้ปลูกต้นไม้ในโครงการและนำไปฝังกลบ

ระบบบำบัดมลพิษ (Fuel Gas Cleaning System)
นอกจากนี้ ยังนำน้ำชะขยะ (น้ำเสียจากหลุมฝังกลบ) ไปบำบัดด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis Membrane) เพื่อเอากลับมาใช้ประโยชน์ เช่น รดน้ำต้นไม้ สร้างบ่อเลี้ยงปลา และเปลี่ยนให้เป็นน้ำยาจุลินทรีย์ชีวภาพ (EM) ที่ทางโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF นำไปใช้ดับกลิ่นขยะในหลุมฝังกลบ

ระบบกรองน้ำ RO ที่ใช้ปรับสภาพน้ำชะขยะ

บ่อบำบัดน้ำชะขยะและพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบ ๆ

ถังหมักน้ำยาจุลินทรีย์ชีวภาพ (EM) จากน้ำชะขยะ
จากบ่อขยะมหึมาที่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็นรุนแรงและปัญหาแมลงวันชุกชุม แต่หลังจากที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ปัญหาดังกล่าวก็น้อยลง และทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

คุณละออง ตัวแทนชาวบ้าน ต.แพรกษาใหม่
"ตอนแรกที่เปิดเป็นบ่อให้ทิ้งขยะชั่วคราว ก็มีขยะเยอะมาก ส่งกลิ่นเหม็นตลอดทั้งวัน และแมลงวันก็เยอะมาก ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่หลังจากมีการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF แห่งนี้ขึ้นมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะมีการจัดการขยะที่ดี ปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลงวันน้อยลง ส่วนเรื่องปริมาณขยะจากเดิมที่มีอยู่ก็ลดลงตามไปด้วย เรื่องถนนหนทางก็สะอาดขึ้น เพราะทางโรงไฟฟ้าก็เข้ามาช่วยทำความสะอาดและช่วยจัดการขยะบนถนนที่หล่นจากรถขยะ" คำบอกเล่าของคุณละออง ตัวแทนชาวบ้าน ต.แพรกษาใหม่
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียง เช่น การปรับปรุงเส้นทางสัญจร จากดินลูกรังเป็นถนนคอนกรีต และมีการเปิดถนนส่วนบุคคลที่อยู่ในเขตของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ให้ชาวบ้านได้ใช้ร่วมกัน

คุณสุพัตรา ตัวแทนชาวบ้าน ต.แพรกษาใหม่
"ปกติบริเวณแถวนี้เป็นถนนดินลูกรัง พอมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ก็มีการปรับปรุงพื้นที่เปลี่ยนเป็นถนนคอนกรีต และเมื่อก่อนตอนที่ยังมีแค่บ่อขยะ ชาวบ้านก็จัดการกันเอง แต่พอมีบริษัทเข้ามา ปัญหาเรื่องกลิ่นก็น้อยลง และเปิดถนนในพื้นที่ส่วนบุคคลให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน" คุณสุพัตรา ตัวแทนชาวบ้าน เล่าเสริม
อีกทั้งยังเปิดให้คนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาเก็บขยะบนหลุมฝังกลบ แล้วนำขยะรีไซเคิลมาขายให้กับทางโครงการ เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
เนื่องจากปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี บวกกับกองขยะเก่าที่ตกค้างสะสมมาเนิ่นนาน จึงได้วางแผนที่จะขยายโครงการเพิ่มอีก 3 แห่ง ใน ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ คือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะชุมชน ขนาด 8 เมกะวัตต์ และขนาด 3 เมกะวัตต์ อีก 2 แห่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถกำจัดขยะได้ 1,800 ต่อวัน และผลิตไฟฟ้าได้ 23.9 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง
จะเห็นได้ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF เป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดการขยะ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำจัดขยะ มีไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการลดปริมาณขยะคือ การนำกลับไปใช้ใหม่ให้มากที่สุด ตามแนวคิด Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างที่ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแห่งนี้นำมาใช้ เพื่อทำขยะให้เหลือศูนย์ ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ตรวจสอบข้อมูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562