"ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562"

เตาเผาขยะภูเก็ต ต้นแบบการจัดการขยะ สู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อชุมชน

ถอดบทเรียนเตาเผาขยะภูเก็ต  จากวิกฤตการจัดการขยะที่รุนแรงสุด แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เรื่องนี้ชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร ไปร่วมเปิดประสบการณ์เพื่อเรียนรู้กัน

อ.เมืองภูเก็ต

พัฒนาการของระบบกำจัดขยะจังหวัดภูเก็ตมีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายประเด็นที่สังคมไทยควรมีโอกาสเรียนรู้ ที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เป็นจังหวัดแรกที่มีเตาเผาขยะ แต่เคยเจอวิกฤตปัญหาขยะล้นเมืองและรุนแรงเมื่อปี 2549 ทว่าในที่สุดก็ฝ่าฟันทุกอุปสรรค และสามารถดำเนินงานเตาเผาขยะมากกว่า 20 ปี  ดังนั้น “ภูเก็ต” จึงถือเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการจัดการขยะและการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ดี และวันนี้เราพาไปร่วมกันถอดบทเรียน เพื่อให้ท้องถิ่นและจังหวัดอื่น ๆ ศึกษาอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ และสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วไปจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ปัญหาและสาเหตุที่ทำให้ภูเก็ตมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น

ตลาดคนเดิน จ.ภูเก็ต

ภูเก็ตเป็นแลนด์มาร์กของการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาที่ภูเก็ตแบบล้นหลามแทบจะทุกฤดู และเมื่อเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ฮอตฮิต การจ้างงานของที่นี่จึงสูงขึ้นด้วย ดังนั้นนอกจากนักท่องเที่ยวที่มาใช้ชีวิตในระยะสั้น ๆ แล้ว เหล่าคนต่างถิ่นที่มาทำงานเลี้ยงชีพที่ภูเก็ตก็มีปริมาณมากไปด้วยเช่นกัน และเมื่อปริมาณคนเยอะขึ้น ก็ส่งผลให้ปริมาณขยะเยอะขึ้นตามเป็นเงา จนทำให้ภูเก็ตเกิดปัญหาขยะล้นเมือง

และปัญหาขยะภูเก็ตยิ่งมาช้ำหนัก เมื่อโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิลภายใต้การดำเนินการของเอกชน เป็นเวลา 5 ปี ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องยุติการเดินระบบ แต่กลับทิ้งขยะที่เหลือจากการเผาและคัดแยกในแต่ละวัน เทกองในพื้นที่ฝังกลบตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เอกชนเข้ามาดำเนินการ ส่งผลให้เถ้าที่ทับถมกันมาหลายปีมีน้ำเสียไหลล้นลงสู่ทะเลและบริเวณคลองเกาะผี สัตว์น้ำของชาวบ้านที่เลี้ยงอยู่ในกระชังบริเวณนั้นจึงตายทั้งหมด

ที่มาและจุดเริ่มต้นโครงการเตาเผาขยะและผลิตพลังงานไฟฟ้า จังหวัดภูเก็ต

จากปัญหาขยะล้นเมืองดังที่กล่าวไปข้างต้น เทศบาลนครภูเก็ตจึงร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอย กำหนดรูปแบบการจัดการขยะแบบผสมผสาน ทั้งลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

กระทั่งในปี 2539 กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เริ่มก่อตั้งเตาเผาแบบตะกรับในจังหวัดภูเก็ต นับว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่มีการก่อตั้งเตาเผาขยะขนาดใหญ่เลยก็ว่าได้

การจัดการปัญหาขยะ โดยชุมชน เอกชน และภาครัฐมีส่วนร่วมอย่างไร

บรรยากาศกลางคืน จ.ภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตสั่งสมประสบการณ์การบริหารจัดการขยะในรูปแบบการรวมกลุ่มของท้องถิ่นโดยมีคณะกรรมการบริหารจัดการขยะเป็นกลไกขับเคลื่อน กำกับดูแล ทำให้เกิดความร่วมมือของท้องถิ่นต่าง ๆ ในการจัดทำแผน การให้ข้อมูลข่าวสาร การรณรงค์ลดและคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดในทิศทางเดียวกัน ร่วมกันกำหนดค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ โดยแต่ละภาคส่วนให้ความร่วมมือดังนี้  

         ● คนในชุมชน

จังหวัดภูเก็ตการรณรงค์ให้ชุมชนและผู้ประกอบการลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิด ตั้งแต่การลดใช้ คัดแยกขยะ และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังใช้นิยามการทิ้งขยะที่เรียกว่า “ถังข้าวหมู” เพื่อจัดการกับขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียก ที่มีสัดส่วนมากถึง 60% ของน้ำหนักขยะทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยให้ชาวบ้านร่วมมือและแยกขยะอย่างดีและเข้าใจถูกต้อง จากที่เคยสับสนว่าถุงพลาสติกเปียกจะเป็นขยะเปียกหรือขยะรีไซเคิลกันแน่ ก็แยกออกจากถังข้าวหมูได้เพราะเข้าใจชัดเจนว่าพลาสติก หรือกระดาษเปียกสัตว์กินไม่ได้ ส่งผลให้ขยะเปียกจากชุมชน เป็น Wet Waste ตามนิยามที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

         ● ภาครัฐ

การจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ต คือตัวอย่างการรวมกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันจัดการปัญหาขยะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 และยังคงดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน โดยวางแบบแผนจัดการขยะด้วยการจัดรถขนขยะแยกประเภท และกำหนดวันเก็บขยะอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการรณรงค์การทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารหรือขยะเปียกอีกด้วย ในส่วนขยะรีไซเคิลก็ส่งเสริมให้มีธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิลที่คัดแยกจากครัวเรือน เป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในจังหวัด ส่วนขยะอันตราย ก็ได้ส่งเสริมในหลายรูปแบบ เช่น โครงการขยะอันตรายแลกยา ภายใต้การร่วมมือระหว่างเทศบาลกับชมรมร้านขายยาจังหวัดภูเก็ต จากนั้นขยะอันตรายก็จะถูกแยกไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

นอกจากนี้เทศบาลนครภูเก็ตยังนำเทคโนโลยีในการกำจัดขยะ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยขยะที่เหลือจากการคัดแยกและทำปุ๋ยหมัก จะถูกนำเข้าเตาเผาเพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ซึ่งทางกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มก่อตั้งเตาเผาแบบตะกรับ 1 ชุด กำจัดขยะได้ 250 ตันต่อวัน ในปี 2539 เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้ส่งมอบให้เทศบาลนครภูเก็ตเป็นฝ่ายรับผิดชอบและให้บริการกำจัดขยะให้กับท้องถิ่นทุกแห่งภายในจังหวัด โดยเริ่มเผาขยะได้ในเดือนมิถุนายน 2542 เป็นต้นมา ทว่าปริมาณขยะที่มีมากเกินขีดความสามารถของเตาเผา ดังนั้นในปีถัดมาเทศบาลภูเก็ตจึงได้ตัดสินใจให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนลงทุนและดำเนินการโรงคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ให้เอกชนมาร่วมดำเนินกิจการด้านขยะ กับรัฐและส่วนท้องถิ่น

         ● เอกชน

แม้ทางภูเก็ตจะมีเอกชนเข้ามาช่วยลดภาระการลงทุนที่รัฐและส่วนท้องถิ่นต้องแบกรับไปกับเตาเผาขยะ แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหา เมื่อเอกชนผู้ลงทุนและเดินโรงงานคัดแยกขยะประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้า จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะคัดแยกขยะให้ได้ประมาณ 90-100 ตัน ทว่าหลังจากเดินระบบกลับคัดแยกขยะได้เพียงประมาณ 30 ตันเท่านั้น ซ้ำยังคัดแยกได้เพียงวัสดุที่มีราคาขายต่ำ เช่น ขวดแก้ว เลยต้องยุติการดำเนินการ แถมยังทิ้งวิกฤตขยะเอาไว้ให้ดูต่างหน้า

อย่างไรก็ตาม วิกฤตขยะครั้งนี้ก็ถือเป็นบทเรียนอันมีค่า ที่ภูเก็ตได้สั่งสมประสบการณ์การจัดการขยะ เข้าใจรายละเอียดของเทคโนโลยีเตาเผาที่เหมาะสมกับขยะที่มีความชื้นสูงของสังคมไทย ผ่านการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและวิกฤตที่เกิดจากผลกระทบจากเตาเผา จากน้ำชะขยะ ปัญหากลิ่น เข้าใจต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการกำจัดด้วยเตาเผา ผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวของโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ที่สำคัญคือประสบการณ์ในการจัดจ้างและกำกับดูแลเอกชนเพื่อการเดินระบบเตาเผา ทั้งเตาเผาชุดเก่า ขนาด  250 ตันต่อวัน ที่ได้รับการถ่ายโอนจากกรมโยธาธิการ ประสบการณ์ในการจัดทำสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนในการลงทุนโรงงานคัดแยกวัสดุรีไซเคิลที่ในที่สุดก็ล้มเหลวไป รวมไปถึงการคัดเลือกเอกชนเพื่อการลงทุนและเดินระบบเตาเผาขนาด 700 ตันต่อวันชุดใหม่ที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดที่มีประสบการณ์ในด้านกำจัดขยะร่วมกับเอกชนมาเป็นเวลานาน ผ่านบทเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ มาเรียนรู้ความสำเร็จและข้อผิดพลาดต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเองให้เสียเวลาและงบประมาณ

การดำเนินการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

การจัดการขยะในจังหวัดภูเก็ตค่อนข้างเป็นระบบ และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอย จากความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครภูเก็ต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด ได้กำหนดค่าธรรมเนียมกำจัดขยะที่อัตรา 200 บาทต่อตัน ในปี 2542 ก่อนจะขยับมาเพิ่มเป็น 300 บาทต่อตัน ในปี 2550 และล่าสุด ที่ 520 บาทต่อตัน เพื่อดำเนินการนำขยะเศษอาหารที่ชุมชนคัดแยกมาตั้งแต่ต้นทาง ไปทำปุ๋ยอินทรีย์ มีการกำหนดวันจัดเก็บขวดแก้วเพื่อลดปริมาณขยะก่อนนำไปเผา รวมไปถึงการแยกขยะอันตรายในครัวเรือน จนเหลือปริมาณขยะมูลฝอยน้อยที่สุด นำไปฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล และขยะส่วนที่เผาได้ ก็ส่งเข้าเตาเผาเอกชน เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ใช้ในโรงงานและขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนเถ้าจากการเผาขยะ ก็จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าธรรมเนียมกำจัดขยะที่ภูเก็ตทำ ถือเป็นตัวอย่างของระบบการบริหารจัดการขยะ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีประกาศกระทรวงเพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะระดับจังหวัดทุกจังหวัด ตามแนวทางของ Roadmap ในเดือนตุลาคม ปี 2557 ในเวลาต่อมา

ภาพรวมปัจจุบันของเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงาน จังหวัดภูเก็ต

ครั้งแรกที่มีเตาเผาขยะในจังหวัดภูเก็ต ณ ตอนนั้นความสามารถในการกำจัดขยะมูลฝอยในชุมชนมีเพียง 250 ตัน/วัน เพราะมีเตาเผาเพียง 1 ชุดเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เตาเผาขยะภูเก็ตมีขีดความสามารถในการกำจัดขยะที่ 700 ตันต่อวัน ด้วยเตาเผาที่มีห้องเผาขนาด 350 ตันต่อวัน 2 ชุด ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะรองรับปริมาณขยะมูลฝอยจากท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีมากถึง 750 ตันต่อวันได้ และสามารถใช้ความร้อนจากการเผาไปผลิตพลังงานไฟฟ้าขยะได้ 12 เมกะวัตต์ โดยใช้กับระบบภายในและจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถึง 10 เมกะวัตต์

ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากการสร้างเตาเผาขยะภูเก็ต

ชายหาด จ.ภูเก็ต

         ● ปัญหาขยะล้นเมืองในจังหวัดภูเก็ตได้รับการแก้ไข ช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 70-90%

         ● ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ 

         ● สิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ตดีขึ้น เพราะไม่มีปัญหาจากขยะอย่างที่เคย

         ● ความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตดีขึ้น

         ● ทัศนียภาพของจังหวัดภูเก็ตดีขึ้น

ต้นแบบการจัดการขยะและการผลิตพลังงานไฟฟ้า จังหวัดภูเก็ต จะนำมาปรับใช้กับชุมชนอื่น ๆ ได้อย่างไร

ทะเล จ.ภูเก็ต

เพราะต้องเผชิญกับวิกฤตขยะในจังหวัด จนกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชน ภูเก็ตจึงต้องระดมความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ภาคประชาชนที่ต้องร่วมรับผิดชอบในขยะที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยลดการใช้ คัดแยกขยะ และเสียค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ

องค์กรส่วนท้องถิ่นที่ต้องวางแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด และมีการตั้งคณะกรรมการจัดการขยะระดับจังหวัด ก่อนจะมีประกาศกระทรวงตามแนวทางของ Roadmap ด้วยซ้ำ

รวมไปถึงประสบการณ์ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผ่านประสบการณ์ทั้งสำเร็จและล้มเหลวในการให้เอกชนลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ ซึ่งโครงสร้างการจัดการขยะและการใช้เตาเผาของจังหวัดภูเก็ตมีคุณค่ามาก จังหวัดอื่น ๆ ควรมีโอกาสเรียนรู้พัฒนาการและประสบการณ์การจัดการขยะ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการขยะภายในชุมชนของตัวเองต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ตรวจสอบข้อมูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
PJT
โครงการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการ
กกพ.

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562

เรื่องน่ารู้
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย