"ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562"

"เตาเผาขยะ" กับ "โรงไฟฟ้าขยะ" ทางออกปัญหาขยะชุมชน หรือเพิ่มมลพิษ

ปัญหาขยะล้นเมือง วิธีแก้สามารถทำได้โดยนำไปทำปุ๋ย รีไซเคิล รวมถึงนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมามักถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เพราะคิดว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด หรือการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มปัญหามลพิษจริง วันนี้เราจะพาไปไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน

โรงไฟฟ้าขยะ

หลายตอนที่ผ่านมา ได้นำเสนอหลักการที่เรียกว่า Waste Management Hierarchy หรือขั้นตอนการจัดการขยะ เริ่มด้วย 3R เพื่อทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด แต่เมื่อเป็นขยะแล้วหมายถึงเอาไปใช้ซ้ำหรือนำกลับไปรีไซเคิลไม่ได้แล้วหรือไม่คุ้มค่า ก็ต้องกำจัด และในขั้นตอนของการกำจัดไม่ว่าจะด้วยวิธีใด หากเป็นไปได้ เราควรจัดการให้เกิดประโยชน์ทางด้านพลังงาน เช่น การนำก๊าซจากหลุมฝังกลบมาผลิตไฟฟ้า หรือนำขยะอินทรีย์ไปหมักให้ได้ก๊าซชีวภาพแล้วนำไปผลิตไฟฟ้า หรือนำความร้อนจากการเผาขยะไปผลิตไฟฟ้า เป็นต้น สุดท้ายเมื่อเราได้ทำทุกขั้นตอนอย่างจริงจัง เหลือขยะที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จริง ๆ น้อยที่สุด จึงจะนำไปสู่การกำจัดในขั้นตอนสุดท้ายคือการฝังกลบ

แล้วเหตุใดในขั้นตอนการกำจัดขยะ จึงมักถูกประชาชนต่อต้านด้วยความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ? 

ก็ต้องยอมรับว่า ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน การต่อต้านคัดค้านไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับโครงการเตาเผาขยะหรือโรงไฟฟ้าขยะ ที่พบว่าไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรที่เกี่ยวข้องกับขยะ ประชาชนจะวิตกกังวลและต่อต้านคัดค้านก่อนเสมอ แม้แต่โครงการก่อสร้างสถานที่ฝังกลบก็ได้รับการต่อต้านคัดค้านเช่นกัน นี่อาจเป็นผลจากการดำเนินงานของท้องถิ่นที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การเทกองหรือเผากองขยะ ประชาชนได้รับผลกระทบและไม่ต้องการให้โครงการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขยะมาอยู่ใกล้บ้านตัวเอง ที่เราเรียกว่า NIMBY หรือ Not In My Back Yard นั่นเอง

สถานการณ์ขยะและปัญหาการต่อต้านจากชุมชน
กองขยะถูกเผา

แม้ว่าเราจะได้รณรงค์การลด คัดแยก ใช้ซ้ำ ด้วยความคาดหวังที่จะให้ขยะลดลง แต่จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เราพบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้นและต้องนำไปกำจัดไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับเพิ่มมากขึ้นด้วยหลายสาเหตุ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เราก็ต้องเพิ่มศักยภาพในการจัดการ โดยเฉพาะระบบกำจัดให้เพียงพอ แต่ก็ประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณ ขีดความสามารถในการจัดการของท้องถิ่น และการต่อต้านคัดค้านของประชาชน ตัวอย่างเช่น สถานที่กำจัดแบบฝังกลบของเทศบาลเมืองปทุมธานี สถานที่กำจัดแบบฝังกลบของเทศบาลเมืองคูคต สถานที่กำจัดแบบฝังกลบของเทศบาลนครอุบลราชธานี ศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และไม่นานมานี้คือการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะของเทศบาลเมืองกระบี่ และเทศบาลเมืองเพชรบุรี

การต่อต้านคัดค้านมีพื้นฐานจากความกังวลเรื่องผลกระทบ ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของท้องถิ่น เช่น การเทกอง การเผาขยะกลางแจ้ง ปัญหาแมลงวัน กลิ่น ควัน น้ำเสีย เมื่อประชาชนร้องเรียน ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการแก้ไขจนกลายเป็นผลกระทบที่รุนแรง แต่ในบางโครงการมีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสในการพัฒนาโครงการเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น

หลังการประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระสำคัญของประเทศตาม Roadmap การจัดการขยะปี 2557 ภายใต้นโยบายที่จะให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนระบบกำจัดขยะของท้องถิ่น จากนั้นระบบกำจัดขยะที่ได้รับการนำเสนอและพัฒนาเป็นรูปแบบ “โรงไฟฟ้าขยะ” ซึ่งแทบทุกโครงการได้รับการต่อต้านคัดค้านจากประชาชน จนเข้าใจกันว่า “ประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ”

"เตาเผาขยะ" กับ "โรงไฟฟ้าขยะ" ต่างกันอย่างไร

ย้อนกลับมาเรื่องความหมายของคำหรือชื่อที่เกี่ยวข้อง ที่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสับสนหรือกระทั่งเกิดทัศนะเชิงลบ หลายตอนที่ผ่านมา มีทั้งคำว่า “เตาเผาขยะ” และคำว่า “โรงไฟฟ้าขยะ” จริง ๆ แล้วสองคำนี้ให้ความหมายที่แตกต่างกัน

เตาเผาขยะ คืออะไร

โรงไฟฟ้าขยะ

เตาเผาขยะ (Incinerator) เป็นวิธีกำจัดขยะวิธีหนึ่ง เมื่อเผาขยะแล้วก็จะเหลือเฉพาะขยะที่ไม่เผาไหม้และเถ้าจากการเผา โดยทั่วไปจะเหลือประมาณ 10-15% โดยน้ำหนักของปริมาณขยะก่อนเผา ดังนั้น เมื่อนำไปฝังกลบจะประหยัดเนื้อที่การฝังกลบอย่างมาก เตาเผาขยะจึงมีความเหมาะสมและใช้กันทั่วไปในประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ เช่น ประเทศในทวีปยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยเทคโนโลยีในการเผาและการป้องกันผลกระทบจากการเผาได้รับการพัฒนา จน “เตาเผาขยะ” เป็นระบบกำจัดขยะที่จำเป็นสำหรับเมืองใหญ่โดยทั่วไป

แม้ว่าขยะจะมีความชื้น มีความหลากหลายตามประเภทของวัสดุ มีขนาดแตกต่างกันอย่างมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนา เช่น เทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับ “เตาเผาขยะ” ก็สามารถเผาขยะเหล่านั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ มาช่วยในการเผา จากนั้นจึงเกิดแนวคิดที่จะนำเอาความร้อนจากการเผาให้เกิดประโยชน์ด้านพลังงานตามหลักการขั้นที่ 4 ของ Waste Management Hierarchy จึงพัฒนาขึ้นเป็น “เตาเผาที่ผลิตพลังงาน” โดยพลังงานที่นำมาใช้เป็นทั้งพลังงานความร้อนและการแปรพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งต่อมาเราเรียกกระบวนการเผาขยะและการใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้ว่า Waste to Energy นั่นเอง

“เตาเผาขยะ” จึงมีทั้งที่สามารถแปลงความร้อนที่เกิดจากการเผาไปผลิตพลังงาน กับ “เตาเผาขยะ” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดขยะอย่างเดียว

โรงไฟฟ้าขยะ คืออะไร

โรงไฟฟ้าขยะ

คำว่า โรงไฟฟ้า (Power Plant) หมายถึงโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็คือโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง 

แต่หากคำว่า “Waste to Energy” ถูกบัญญัติเป็น “โรงไฟฟ้าขยะ” ย่อมหมายถึงโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับ Waste to Energy ที่มีวัตถุประสงค์ในการกำจัดขยะ ส่วนพลังงานที่ได้เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

ขยะจึงไม่ใช่เชื้อเพลิง เว้นแต่จะนำขยะมาปรับปรุงคุณภาพโดยการคัดเอาวัสดุที่เผาไหม้ได้เท่านั้น เช่น กระดาษ เศษพลาสติก เศษผ้าและเศษไม้ มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงที่เรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) ดังนั้น เมื่อนำ RDF ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เราก็เรียกโรงงานผลิตไฟฟ้าประเภทนี้ว่า “โรงไฟฟ้า RDF” และจากประสบการณ์ของการใช้ RDF สำหรับประเทศไทย เราพบว่า RDF ที่เหมาะสมจะเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ควรเป็น RDF ที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

ประการแรก ขยะเหล่านี้มีค่าความร้อนสูงและมีความชื้นต่ำ เหมาะสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงอยู่แล้ว 

ประการที่สอง ขยะอุตสาหกรรมมีแหล่งที่มาที่ชัดเจน สามารถเลือกที่จะไม่รับวัสดุบางประเภทมาใช้ เช่น พลาสติกที่มีส่วนผสมของคลอไรด์ ซึ่งจะทำให้เกิดการกัดกร่อนในระบบการเผา และมีความเสี่ยงที่จะเกิดก๊าซอันตรายบางประเภท ซึ่งเราไม่สามารถเลือกเช่นนั้นได้ในกรณีของขยะชุมชน

จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดแรกที่ใช้ระบบกำจัดขยะด้วยเตาเผา ซึ่งเริ่มเดินระบบมาตั้งแต่ปี 2542 ขณะนั้นมีขีดความสามารถในการรองรับขยะเพียง 250 ตันต่อวัน และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2.5 วัตต์ ต่อมาได้ขยายขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในจังหวัดเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเตาเผาขยะชุดใหม่สามารถรองรับปริมาณขยะได้ถึง 700 ตันต่อวัน และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 12 เมกะวัตต์ เตาเผาขยะของจังหวัดภูเก็ตได้รับการดูแล บริหารโดยเทศบาลนครภูเก็ต ตั้งอยู่ภายในตัวเมือง คนภูเก็ตเรียกระบบกำจัดขยะแห่งนี้ว่า “เตาเผาขยะ” ไม่มีใครเรียก “โรงไฟฟ้าขยะ” คนภูเก็ตบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “เตาเผาขยะ” นี้ผลิตไฟฟ้าได้ แต่กลับเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่เมืองต้องมีระบบกำจัดขยะแบบเตาเผา

ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ตรวจสอบข้อมูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

กกพ.

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562

เรื่องน่ารู้
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย