พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญทั้งต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาในทุก ๆ มิติของสังคมโลก เป็นเรื่องใกล้ตัวมนุษย์ ที่อาจจะประกอบไปด้วยข้อมูลที่ซับซ้อน ยากแก่การทำความเข้าใจ หรือในบางส่วนของข้อมูล ก็อาจส่งผลต่อมุมมอง และทัศนคติได้ทั้งในเชิงลบ และเชิงบวก ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานไฟฟ้าที่ถูกต้อง และส่งเสริมการปลูกจิตสำนึก ตลอดจนสนับสนุนทัศนคติที่ดีในเชิงบวก ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เช่น การผลิตไฟฟ้าแบบต่าง ๆ การเลือกเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และสถิติข้อมูลไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็น ดังนั้นการพิจารณาเลือกใช้สื่อ หรือช่องทาง (Media and Channel) ในการสื่อสาร และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ที่มีความสอดรับกับเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ของผู้คน ในสภาวการณ์การสื่อสารในยุคปัจจุบัน จะเป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และใช้เวลาไม่มากนักในการทำความเข้าใจในข้อมูลที่มีความยาก และซับซ้อน
นวัตกรรมเกมเพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ (Game-Based Learning หรือ GBL) เป็นนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ออกแบบและสอดแทรกเนื้อหาในเชิงความรู้ ข้อเท็จจริง ลงไปในเกม และจัดให้ผู้เล่น (Player) มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ลงมือเล่น และฝึกปฏิบัติในการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยในขณะที่ลงมือเล่นผู้เล่นจะได้รับทักษะ และความรู้จากเนื้อหาไปด้วย อีกทั้งเกมสามารถจัดสร้างสถานการณ์จำลอง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เล่น เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกท้าทาย และสามารถเล่น ประกอบกับการเรียนรู้ไปได้อย่างเพลิดเพลิน
ดังนั้น บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ขอเสนอโครงการเพื่อการส่งเสริมสังคม และประชาชน ให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าด้วยแนวคิดการพัฒนาเกม โดยมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเกี่ยวกับ "พลังงานไฟฟ้าจากขยะ" อย่างสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบเกม โดยการแบ่งเนื้อหา และระดับของการเรียนรู้ออกเป็นระดับ ตามความง่าย - ยาก เพื่อการสื่อสารข้อมูล ในเชิงความรู้ และสร้างทัศนคติที่ดี ในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าในทุกมิติ
- ประชาชนทั่วไป
เยาวชน ประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไปได้รับความรู้เกี่ยวกับทางเลือกใหม่ของพลังงานไฟฟ้า เกี่ยวกับการผลิตขยะเชื้อเพลิง ผ่านเครื่องมือ และช่องทางการสื่อสารเนื้อหาของโครงการ ได้แก่ การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ผ่านเกม, การนำเสนอเนื้อหา สาระความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์พิเศษ (Special Microsite) และกระบวนการสื่อสารผ่านระบบ Chat bot อันจะเป็นการสื่อสารเพื่อการถ่ายทอดทัศนคติในเชิงบวกด้านพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนเกิดความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์ และสาระเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า รวมถึงประเด็นทางเลือกใหม่ของพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ ทางโครงการ ได้วางแผนในด้านของการประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อสร้างการรับรู้ และการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไป โดยคาดว่าจะมีจำนวนสมาชิกผู้สนใจเข้าร่วมเล่นเกม ไม่น้อยกว่า 5,000 คน (บัญชี) และมีจำนวนผู้รับรู้โครงการ (Visitors) ผ่านช่องทางเว็บไซต์โครงการ ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย รวมถึงมีจำนวนการเข้าชมเว็บไซต์โครงการ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านครั้ง (Pageviews) ตลอดระยะเวลาโครงการ